ส่วนประกอบสำคัญที่ควรรู้ของรถเครน เพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน

รถเครน

                รถเครนและเครนแบบเคลื่อนที่ไม่ได้ ประกอบไปด้วยเครื่องยนต์และกลไกที่ใช้ควบคุมการทำงานมากมาย ด้วยเครนนั้นใช้ทำงานในที่สูงคือ มีลักษณะการยกสิ่งของจากที่ต่ำไปที่สูง เช่น บนอาคารสูง หรือบนเสาที่มีความสูง เป็นต้น กลไกที่ใช้ควบคุมเครนจึงประกอบไปด้วยชิ้นส่วนเพื่อความปลอดภัยมากมาย เพราะการทำงานที่มีความผิดพลาดเพียงเล็กน้อยก็สามารถก่อความเสียหายให้แก่ชีวิตและทรัพย์สินได้ เช่น เครนที่ไม่อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน อาจทำให้สิ่งของตกลงมาจากที่สูงและทำอันตรายต่อผู้คนในบริเวณใกล้เคียงได้ เป็นต้น ดังนั้นเราจึงควรมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับส่วนประกอบสำคัญของเครนว่าประกอบไปด้วยอะไรบ้างดังต่อไปนี้

ส่วนประกอบสำคัญของรถเครน ที่ผู้ใช้งานควรรู้

                รถเครนหรือโมบายเครน เป็น 1 ในประเภทของเครนที่มีทั้งหมด 2 ประเภท คือเครนแบบเคลื่อนที่ได้ กับเครนแบบเคลื่อนที่ไม่ได้ ส่วนประเภทแยกย่อยของเครนแต่ละชนิดก็เป็นการต่อยอดเพื่ออำนวยความสะดวกและรองรับการใช้งานที่มีความหลากหลาย โดยเครนแบบเคลื่อนที่ได้หรือโมบายเครนมีองค์ประกอบสำคัญดังนี้

1. แขน หรือ บูม

                เป็นส่วนสำคัญที่ใช้ในการรับน้ำหนัก แขนของเครนจะมีลักษณะพับซ้อนกันอยู่หลายชั้น เมื่อต้องการใช้งานกลไกจะควบคุมให้แขนยืดออกไปเพื่อแขวนสินค้า เช่น เครนขนาด 70 ตันจะมีแขนที่ซ้อนกันอยู่ 3 ชั้น ความยาวเมื่อยืดแขนออกไปจนสุดจะอยู่ทีประมาณ 38 เมตร เครนบางรุ่นมีการติดตั้งอุปกรณ์เสริมเป็นโครงเหล็กเพื่อช่วยให้แขนยืดออกไปได้อีกประมาณ 20 เมตร รวมความยาวทั้งหมดประมาณ 58 เมตร ซึ่งข้อควรระวังคือ ยิ่งแขนของเครนมีความยาวมากเท่าไหร่ น้ำหนักที่สามารถยกได้จะน้อยลงเท่านั้น เพื่อเป็นการรักษาสมดุลไม่ให้เครนพลิกคว่ำ การใช้งานส่วนใหญ่หากสิ่งของมีน้ำหนักมากจะไม่นิยมยืดแขนเครนออกไปจนสุด เพื่อรักษาความปลอดภัย

2. ขายันพื้น

                รถเครนมีล้อยางสำหรับใช้เคลื่อนที่ไปตามท้องถนน ดังนั้นในขณะที่เครนกำลังทำงานจะไม่ใช้ส่วนของล้อยางเป็นตัวยึดให้เครนอยู่กับที่ เพราะล้อไม่สามารถรองรับน้ำหนักการทำงานของเครนได้ จึงต้องมีขายันพื้นที่ควบคุมด้วยระบบไฮดรอลิกอีก 1 ตัว เพื่อใช้ยันกับพื้นและยกรถให้สูงขึ้น รองรับการสั่นสะเทือนในขณะที่เครนทำงานและกระจายน้ำหนัก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อพื้นผิวของถนน

3. สายเคเบิล

                คือสายที่ใช้สำหรับแขวนสินค้า ในเครนแต่ละแบบจะมีจำนวนสายเคเบิลที่แตกต่างกัน อย่างเครนที่มีน้ำหนัก 70 ตัน จะมีสายเคเบิลทั้งหมด 10 เส้น เฉลี่ยแต่ละเส้นจะรับน้ำหนักได้ประมาณ 6,350 กิโลกรัม เครนขนาด 70 ตันจึงรับน้ำหนักได้ประมาณ 63,500 กิโลกรัม และที่ปลายสายเคเบิลจะมีลูกบอลเหล็กที่มีขนาดประมาณ 125 กิโลกรัมยึดติดอยู่พร้อมกับตะขอ เพื่อถ่วงสมดุลให้สายเคเบิลตึงตลอดการใช้งานไม่แกว่งไปมา

4. ห้องควบคุม

                จะอยู่บริเวณเฟืองของรถเครนด้านล่าง ภายในมีกลไกสำหรับควบคุมการหมุนของเครน โดยส่วนใหญ่เครนจะหมุนด้วยความเร็วเฉลี่ย 2 รอบต่อนาที โดยสามารถหมุนได้ทั้งไปทางซ้ายและขวา การขับเคลื่อนการหมุนใช้ระบบไฮดรอลิก ผ่านการควบคุมของผู้ขับขี่ที่ใช้มือและเท้าในการควบคุมเครน

5. ตัวถ่วงน้ำหนัก

                นอกจากขายันพื้นที่ใช้สำหรับกระจายน้ำหนักและรักษาสมดุลของรถแล้ว ตัวถ่วงน้ำหนักก็เป็นอีกหนึ่งชิ้นส่วนสำคัญเพื่อความปลอดภัย โดยตัวถ่วงน้ำหนักจะติดตั้งอยู่บริเวณด้านหลังของรถ เพื่อถ่วงสมดุลของน้ำหนักขณะที่เครนทำงานไม่ให้รถพลิกคว่ำไปด้านหน้า ตัวถ่วงน้ำหนักนั้นจะมีน้ำหนักมากหรือน้อยจะขึ้นอยู่กับน้ำหนักของเครนเป็นหลัก เช่น เครนขนาด 70 ตันจะใช้ตัวถ่วงน้ำหนักประมาณ 1,814 กิโลกรัม เป็นต้น และที่สำคัญคือเมื่อเลิกใช้งานแล้ว ต้องถอดตัวถ่วงน้ำหนักเก็บทุกครั้ง

                รถเครนคือเครื่องจักรที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อความสะดวกในการยกสิ่งของที่มีน้ำหนัก และการทำงานในพื้นที่อันตราย และเมื่อเครนต้องเกี่ยวข้องกับที่สูงและสิ่งของที่มีน้ำหนักมาก ผู้ใช้งานควรมีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับระบบและส่วนประกอบของเครน เพื่อการตรวจสอบสภาพก่อนการใช้งานเบื้องต้น และหลังจากเลิกใช้งานก็ควรมีการตรวจสอบสภาพอีกครั้ง เพื่อยืดอายุการใช้งาน และเพื่อความปลอดภัยในการใช้งานครั้งต่อไป

Ricky Moore

Ricky Moore